ฮานึลคงวอน หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ‘สวนฟ้า’ เป็นสวนที่หลายๆคนเวลาจัดทริปมาเที่ยวเกาหลีจะต้องใส่เอาไว้ในลิสท์สถานที่ที่ต้องมาเช็คอิน เพราะทุ่งหญ้าสีเงิน (Silvergrass) แสนสวยที่อยู่บนยอดเนินของสวนนี้แหละที่ทำให้นักท่องเที่ยวแวะเวียนกันมาตลอดทั้งปี แต่ช่วงที่ดูจะครึกครื้นที่สุดเห็นจะเป็นช่วงฤดูใบไม้เปลี่ยนสี ที่บรรดาต้นหญ้าสีเงินนั้นพากันเปลี่ยนสีจากก้านเขียวๆดอกขาวๆเป็นสีทองเหลืองอร่ามไปทั่วทั้งบริเวณ แต่ฮานึลคงวอนเค้าไม่ได้มีของดีอยู่แค่นี้นะคะ ในโพสนี้เราจะพาไปชมจุดที่มีใบไม้เปลี่ยนสีอีกจุดนึงที่อยู่ไม่ไกลจากทุ่งหญ้าสีเงินนี้ค่ะ
สวนฮานึลนี้เป็น ecological park ที่เป็นส่วนนึงของสวนเวิล์ดคัพ และถูกเปิดให้คนทั่วไปเข้าขมได้มาตั้งแต่ปี 2002 เห็นบรรยากาศดีดีมีพันธุ์ไม้ต่างๆปลูกไว้เต็มสวนแบบนี้ แต่รู้มั้ยคะว่าที่ตั้งของสวนนี้เดิมทีเป็นจุดฝังกลบขยะขนาดใหญ่ของกรุงโซลที่ใช้ทิ้งขยะจำนวนมากมานานกว่า 15ปี ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนให้เป็นสวนสาธารณะและอุทยานนิเวทวิทยาที่ครอบคลุมพื้นที่ถึง 58,000พยอง (ประมาณ 192,000 ตร.ม.)
ในช่วงกลางเดือนตุลาคมถึงปลายเดือนพฤศจิกายนของทุกปีนอกจากจะเป็นช่วงพีคในการชมหญ้าสีเงินแล้ว ใครจะรู้ว่าในบริเวณใกล้ๆกับโซนทุ่งหญ้าจะมีเส้นทางลับที่เต็มไปด้วยไม้สนเมต้าซีคัวญ่า (metasequoia) หรือ ต้นเรดวูดส์ (redwoods) ที่พร้อมจะแผ่รังสีความงดงามในยามใกล้จะผลัดใบแบบนี้อยู่ด้วยค่ะ
ทางเดินเมต้าซีคัวญ่านี้มีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร และแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วง 1 กิโลเมตรแรกสามารถเข้าถึงได้ง่ายมากๆจากทางเข้าหลักของฮานึลคงวอน (ตรงที่มีที่จอดรถกับบูธขายตั๋วรถรับส่งอยู่ค่ะ) ให้เดินตรงเข้ามาเรื่อยๆจนเห็นบันไดซิกแซกๆชันๆที่เป็นบันไดสำหรับไปดูทุ่งหญ้าสีเงิน ไม่ต้องขึ้นบันไดนะคะ เดินต่อมาอีกจนเห็นทางแยกเล็กๆเป็นทางดินดูลูกรังๆหน่อย นั่นแหละค่ะคือจุดเริ่มต้นของเส้นทางชมต้นสนเมต้าซีคัวญ่าของเรา
ในโซนแรกของทางเดินนี้ดูเหมือนจะเป็นจุดพักผ่อนทีดีมากๆจุดนึงเลย มีต้นเมต้าซีคัวญ่าแบบโตเต็มไวถูกปลูกไว้ทั่วบริเวณ และใต้ต้นก็มีม้านั่งจัดเตรียมไว้ให้ด้วย ในช่วงฤดูร้อนถ้าได้มานั่งเล่นเดินเล่นในที่ที่ร่มรื่นสงบๆ มีใบเขียวๆของต้นสนกับอากาศที่สดชื่นช่วยปลอบประโลมแบบนี้ แค่คิดก็เพลินแล้วใช่มั้ยคะ
และถ้าสีเขียวสดๆนั้นค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมส้มจนกลายเป็นสีน้ำตาลแกมแดงในช่วงใกล้หนาว ยิ่งสรรหาคำมาบรรยายความสวยงามของถนนเส้นนี้ไม่ถูกเลย ให้ภาพถ่ายช่วยพูดแทนละกันค่ะ
เดินเล่นไปเรื่อยๆให้มองหาป้ายที่ชี้ทางไป Haneul Park Metasequoia Road (하늘공원 메타세콰이어길) นะคะ นั่นคือช่วงที่เหลือของทางเดินต้นสนค่ะ เดินตามไปเรื่อยๆจนสุดถนนช่วงแรกแล้วเราจะโดนบังคับให้เลี้ยวขวา เดินต่อไปอีกไม่ไกลก็จะถึงช่วงที่สองของถนนต้นสนเมต้าซีคัวญ่าของสวนฮานึลค่ะ
ในโซนนี้มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากโซนก่อนหน้าที่ต้นสนถูกปลูกกระจายๆเต็มพื้นที่ ไม่ค่อยเรียงกันเป็นแถวยาวซักเท่าไหร่ แต่ในโซนที่สองนี้มีการจัดการปลูกต้นสนได้เรียบร้อยกว่ามาก ต้นสนก็เยอะกว่าแถมยังถูกจัดเป็นแถวๆเรียงรายจนกลายเป็นทางเดินยาวสุดลูกหูลูกตาสวยงามมากๆเลยค่ะ
แม้ว่าทั้งสองช่วงของทางเดินนี้จะอยู่ไม่ไกลกันแต่ดูเหมือนว่าต้นสนจากทั้งสองบริเวณจะเปลี่ยนสีไม่พร้อมกัน จากรูปถ่ายของเราจะเห็นว่าต้นสนในโซนแรกนั้นใบเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลเข้มมากแล้ว จนเริ่มร่วงหล่นตามพื้นด้วยค่ะ แต่ต้นสนในโซนนี้ใบยังมีสีเขียวแซมๆอยู่เลย เพิ่งจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเองค่ะ ถือว่าเปลี่ยนสีช้ามากๆเลย
ยังไงก็ตามการเปลี่ยนสีช้าของต้นสนเมต้าซีคัวญ่านี้ก็ถือว่าเป็นข้อดีนะคะ เพราะช่วงปลายเดือนตุลาพอลมหนาวเริ่มมาเราก็จะได้ทุ่มเวลาหาจุดชมใบเมเปิ้ลกับใบกิงโก้กัน พอต้นไม้พวกนี้ร่วงหมดแล้วเราก็ยังมีต้นเมต้าซีคัวญ่ารอเปลี่ยนสีให้เราดูกันจนถึงปลายเดือนพฤศจิกายนกันเลยค่า
Access
ข้อมูลเพิ่มเติมของสวนฮานึล
เวลาทำการ: 09:00 - 22:00 (เวลาปิดขึ้นอยู่กับว่าพระอาทิตย์ตกกี่โมง)
ค่าเข้า: ฟรี
การเดินทางไปถึง metasequoia trail
⇒ ขึ้นซับเวย์สาย 6 (สายสีน้ำตาลเข้ม)
⇒ ลงที่สถานี
⇒ ออกมาทางออก
⇒ เดินไปถึงสี่แยก World Cup Stadium (ประมาณ 15 นาที)
⇒ ข้ามถนนไปฝั่งที่มีที่จอดรถของสวนฮานึล (ที่มีจุดขายตั๋วรถรับส่ง)
⇒ จากจุดซื้อตั๋ว เดินตรงไปเรื่อยจนผ่าน Haneul Stairs
⇒ มองหาทางเดินดินที่มีต้นสนเยอะๆ
Naver Map: Gaeul Danpung Gil (Huimangui Forest Tgerapygill Trail)
서울특별시 마포구 상암동 482-49
http://naver.me/5IFQ4dKv
วันที่เราไปถ่ายรูป: 2021.11.14
p.s. โพสนี้เราเขียนด้วยใจไร้สปอนเซอร์สนับสนุน แต่อย่างไรก็ตามถ้าทุกคนซื้อสินค้าหรือจองบริการผ่านลิงค์โฆษณาที่โผล่ขึ้นมา เราจะได้ค่าตอบแทนเล็กๆน้อยๆเพื่อนำมาใช้พัฒนา Ploy’s Little Atlas บล็อกท่องเที่ยวเล็กๆของเรานี้ต่อไปค่ะ ขอบพระคุณผู้เข้าชมทุกท่านมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ //ไหว้ย่อ//
p.p.s รูปภาพทั้งหมดในโพสนี้เป็นของผู้เขียน (เว้นแต่จะระบุแหล่งที่มา) ไม่อนุญาตให้นำไปใช้ในทุกกรณี หากต้องการรีโพส กรุณาติดต่อผ่านโซเชี่ยลมีเดียได้ทุกช่องทาง